10 กันยายน 2553

ต้อกระจก Cataract


ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา(lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้นจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟาง หรือมืดมัว
สาเหตุ
1. ส่วนใหญ่ (ประมาณ 80%) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นต้อกระจกแทบทุกคน แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไปเรียกว่า ต้อกระจกในคนสูงอายุ(senile cataract)
2. ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันโดยกำเนิด
- เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง
- เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ, ต้อหิน
- เกิดจากยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตอรอยด์ หรือกินเสเตอรอยด์นาน ๆ การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด เป็นต้น
- เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตานาน ๆ เช่น คนที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ ก็ทำให้เกิดต้อกระจกได้
- ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้
- ภาวะขาดอาหาร ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ
อาการ
ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า ตาค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ ทีละน้อยในระยะเริ่มแรก จะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่าง จะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือมองเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างไร อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น สำหรับต้อกระจกในคนสูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้งสองข้างแต่จะสุกไม่พร้อมกัน
สิ่งตรวจพบ การตรวจดูตา จะพบแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่อง ผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า
อาการแทรกซ้อน
เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัด จะทำให้ตาบอดสนิท ในบางคนแก้วตา
อาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง
การรักษา
ในรายที่เริ่มเป็นน้อย ๆ ไม่ต้องทำอะไร รอจนกว่าต้อสุก จึงแนะนำไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล ยกเว้นทารกที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด อาจต้องผ่าตัดเมื่ออายุได้ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อมการผ่าตัด จะใช้ยาชาฉีดไม่ให้ปวด และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังผ่าตัด ผู้ป่วยควรนอนนิ่ง ๆ ประมาณ12-24 ชั่วโมง ก็ให้ลุกนั่ง และเข้าห้องน้ำได้ พักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน ก็กลับบ้านได้ ควรนัดผู้ป่วยมาตรวจทุก 2 สัปดาห์และมาตัดแว่นหลังผ่าตัดประมาณ 3 เดือน เมื่อสวมแว่น ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ชัดเหมือนคนปกติ ในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ เช่น การผ่าตัดสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูง(phacoemulsification) และฝังเลนส์เทียมเข้าไปแทนเลนส์จริงในลูกตา (ไม่ต้องตัดแว่นใส่) ใช้เวลาน้อย และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง
ข้อแนะนำ
1. อาการตามัว อาจมีสาเหตุอื่น นอกจากต้อกระจก ควรซักถามอาการ และ
ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ต้อหิน ดูแผนภูมิประกอบ
2. การรักษาต้อกระจกมีอยู่วิธีอยู่วิธีเดียว คือ การผ่าตัดเอาแก้วตาออก (lens extraction) ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดแก้อาการของต้อกระจกได้
3. ต้อกระจกที่พบในคนอายุน้อย หรือวัยกลางคนอาจมีสาเหตุจากเบาหวาน หรืออื่น ๆ ได้ ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล
4. ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกอย่าไปรักษาตามแบบพื้นบ้านซึ่งบางคนยังนิยม เพราะกลัวผ่าตัดหรือกลัวเสียค่าใช้จ่ายมาก หมอพื้นบ้านจะทำการเขี่ยให้แก้วตาหลุดไปด้านหลังของลูกตา แสงก็จะผ่านเข้าไปในตาได้ ทำให้มองเห็นได้ทันที แต่ไม่ช้าจะภาวะแทรกซ้อนตามมาเช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสาทตาเสื่อมทำให้ตาบอดอย่างถาวรเป็นต้อกระจก อย่าเสี่ยงผ่าตัดไปรักษากับหมอพื้นบ้านอาจทำให้ตาบอดสนิท